จุดหลักของแผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ คือ กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่ อพท. เรียกว่า Co-Creation ซึ่งต้องเกิดจากการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ ดังนี้
1) สถานประกอบการที่พักและร้านอาหารที่เข้าร่วมจะได้ประโยชน์คือ ได้ภาพลักษณ์ในด้านของการเป็นสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากการมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วม ได้กลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น และมีต้นทุนการประกอบการที่ลดลง เช่น ต้นทุนในการทำความสะอาดและดูแลห้องพัก เป็นต้น
2) นักท่องเที่ยว มีทางเลือกในการเข้าพักและทำกิจกรรมท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้น รวมทั้งได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เมื่อเลือกปฏิบัติตนเป็นนักท่องเที่ยวตาม low carbon package จากที่พักและร้านอาหาร เช่น การได้รับส่วนลดค่าห้องพัก ค่าอาหาร การให้ยืมจักรยานฟรี เป็นต้น พร้อมทั้งได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวในอนาคต
3) พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ได้ประโยชน์ในแง่ของคุณภาพสิ่งแวดล้อม เกิดการลดมลภาวะ มลพิษจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง และได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น
การดำเนินการของแคมเปญจะเน้นที่การสื่อสารของตัวสถานประกอบการที่เข้าร่วมเเคมเปญและผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะต้องช่วยกันนำเสนอทางเลือกในการเข้าพักและการท่องเที่ยวในพื้นที่แบบลดโลกร้อนให้แก่ลูกค้าด้วยตัวเอง โดย อพท. จะสนับสนุนโดยการการสื่อสารและโปรโมทกิจกรรมเพิ่มเติมผ่าน facebook fanpage ที่ชื่อว่า Thailand Low Carbon Tourism (https://www.facebook.com/ThailandLowCarbonTourism) ซึ่งเป็น page ที่จะบอกเล่าเรื่องราวและวิธีการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำในพื้นที่พิเศษ และสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ก็จะเป็นการสร้างดึงให้นักท่องเที่ยวที่สนใจการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านมากขึ้น
เเคมเปญ“แอ่วม่วนใจ๋ ไม่เอาถ่าน” มีแนวทางการสร้างและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon Tourism โดยการมอบ Passport ซึ่งเปรียบเสมือนคู่มือเดินทางท่องเที่ยวในเมืองน่าน ให้แก่นักท่องเที่ยวที่ตัดสินใจเลือกพัก กิน และเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านแบบ Low Carbon โดยใช้พาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจักรยานหรือสามล้อถีบ ในการไปรับประทานอาหารในร้านอาหารและท่องเที่ยวในสถานที่แต่ละแห่งที่กำหนดเอาไว้คู่มือ โดยจะมีการร้อยเรียงเรื่องราวให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่ง เพื่อประทับตราดอกไม้ลงบน Passport และเมื่อสะสมได้ครบ 51 ดอก (ซึ่งการเพิ่มขึ้นของตราประทับรูปดอกไม้บน passport แต่ละ 1 ดอก จะเทียบได้กับการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์จากการท่องเที่ยวลงได้ 60 กรัม) นักท่องเที่ยวจะได้รับการยกย่องให้เป็น “ ฮีโร่ ไม่เอาถ่าน ” ได้รับประกาศนียบัตร ของที่ระลึก และ สังฆทานดอกไม้ โดยชาวน่านและ อพท. จะนำดอกไม้ของนักท่องเที่ยวไปปลูก ณ สถานที่ท่องเที่ยว และส่งรูปให้เห็นถึงความเจริญเติบโต และจะทำให้นักท่องเที่ยวจดจำประสบการณ์และความงามของดอกไม้ และอยากจะหวนคืนสู่เมืองน่านอีกครั้ง
ซึ่ง อพท. คาดหวังเอาไว้ว่า กิจกรรมที่ได้พัฒนาขึ้นดังกล่าวจะเป็นแรงกระตุ้นให้จะเกิดรูปแบบการท่องเที่ยวทางเลือกในแบบการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism) ที่เป็นรูปธรรมขึ้นในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ภายใต้ความร่วมมือร่วมแรงใจกันของกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ และแคมเปญนี้ก็จะส่งผลให้เกิดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนใจและเลือกท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism) และส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ของเมืองเก่าน่านที่เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่นยืนภายใต้การดำเนินงานของ อพท. ต่อไป