องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

“สุโขทัย” ชิงเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้โลก

1637133420
ขนาดตัวอักษร

          อพท. จับมือจังหวัดสุโขทัย ชิงเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ องค์การยูเนสโก หวังเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันสู่เมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
 


          เป้าหมายการยกระดับจังหวัดสุโขทัยให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับสากล ที่สำคัญจะทำให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่อีกแห่งหนึ่ง ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้นและพักอาศัยนานวันขึ้น รวมถึงมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงเพราะจังหวัดสุโขทัยได้รับการประกาศว่าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities Network) ประจำปี 2562 สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ ยูเนสโก(UNESCO) และก่อนหน้านั้น เมื่อเดือนธันวาคม 2534 องค์การยูเนสโกก็ได้ประกาศมรดกโลก “เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร”

          นั่นเป็นเพราะว่าสิ่งเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงที่มาที่ไปของจังหวัดสุโขทัยว่า ยังมีอะไรที่น่าค้นหาน่าเรียนรู้อีกมากมาย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยนาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ เห็นโอกาสในการสร้างการรับรู้ถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย จึงมอบให้สำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 (อพท.4) จังหวัดสุโขทัย ให้ความร่วมมือกับทางจังหวัดสุโขทัยผลักดัน “สุโขทัย” เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ องค์การยูเนสโก (UNESCO Global Network of Learning Cities : GNLC) ประจำปี 2564

          นาวาอากาศเอก อธิคุณ กล่าวว่า อพท. 4 ได้รับมอบหมายจากทางจังหวัดให้เป็นผู้ดำเนินการจัดทำใบสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ขององค์การยูเนสโก ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร และนำส่งต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการและ UNESCO เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือกในเดือนมิถุนายน 2564

 


นาวาอากาศเอก อธิคุณ


          “หากเมืองสุโขทัยได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ GNLC จะนับเป็นเมืองที่ 2 ของประเทศไทย โดยเมืองแรกที่ยูเนสโกคัดเลือกและประกาศผลไปแล้วเมื่อปี 2562 คือ เทศบาลนครเชียงราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนของประเทศไทยไม่เกิน 3 เมือง เพื่อส่งให้ยูเนสโกเป็นผู้ตัดสิน”

          ข้อดีของการได้เข้าสู่การเป็นสมาชิก GNLC นอกจากช่วยให้เกิดการรับรู้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มสมาชิก GNLC ที่มีจำนวน 224 เมือง ใน 52 ประเทศ กระจายอยู่ทั่วโลก เกิดการเดินทางศึกษาเรียนรู้ระหว่างกันในกลุ่มสมาชิก และยังช่วยสร้างความสนใจให้เกิดขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ที่ต้องการเดินทางเพื่อศึกษาเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับและเพิ่มมูลค่าเชิงพื้นที่ทั่วจังหวัดสุโขทัย  ทำให้เกิดรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัดและประเทศไทย

          ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวเพิ่มเติมว่า เมืองแห่งการเรียนรู้จะได้รับการจัดระบบการเรียนรู้ให้กับคนในเมืองทุกเพศ วัย สถานะ อาชีพ เพื่อให้คนในเมืองมีการเรียนรู้ตลอดชีพและทั่วถึง นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต และนำไปสู่เมืองที่น่าอยู่และยั่งยืน


          หากสุโขทัยได้รับเลือกเป็นเครือข่าย GNLC ยูเนสโกจะให้การสนับสนุนหลายด้าน คือ

          1. สนับสนุนการดำเนินงานเพื่อสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ เช่น ได้เข้าถึงเครื่องมือและกลยุทธ์ในการพัฒนาเมือง ได้รับข้อมูลเชิงลึกในการดำเนินงานจากรายงานการวิจัยต่าง ๆ ได้รับข้อมูลข่าวสารจากเมืองแห่งการเรียนรู้ทั่วโลก

          2. เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายที่เข้มแข็ง ได้สร้างหุ้นส่วนเครือข่ายความร่วมมือ เช่น ได้ติดต่อกับประเทศสมาชิก สื่อสารกับเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญ ได้รับการสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมนานาชาติระดับภูมิภาค ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากสมาชิก GNLC

          3. ได้รับการยอมรับในความพยายามและการดำเนินงานของเมือง เช่น ได้ร่วมแบ่งปันเป้าหมาย ความคืบหน้า ผ่านช่องทางการสื่อสารของ UNESCO GNLC ได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้เมืองกรณีศึกษา และยังได้รับสิทธิ์สมัครเข้ารับรางวัลเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกอีกด้วย

          จังหวัดสุโขทัย เรียกได้ว่าเป็นเมืองที่มีความเข้มแข็งทางด้านศิลปะและหัตถกรรม ได้รับการสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ชุมชนในเมืองแห่งนี้ใช้วิชาความรู้ที่สืบทอดมาประกอบอาชีพ อีกทั้งยังตอบโจทย์ความสำเร็จอย่างยั่งยืนถึง 2 มิติ คือ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่เป็นการทำคุณค่าให้เกิดมูลค่ายิ่งขึ้น เพราะสุโขทัยมีความโดดเด่นการทำเครื่องสังคโลก ศิลปะปูนปั้น และงานไม้ ซึ่งมีคุณค่าและน่าสนใจ ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้การทำเครื่องสังคโลก ที่มีการส่งต่อรุ่นสู่รุ่น ถือเป็นมิติด้านสังคมอีกทางหนึ่ง