องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ชุมชน ‘กกสะทอน’

1659507240
ขนาดตัวอักษร

ต้นแบบแห่งความรักของคนและผืนป่า

          หากเอ่ยถึงจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งแล้วล่ะก็ จะต้องมีชื่อของภูลมโล อ.ด่านซ้าย จ.เลย อยู่ในลิสต์แน่นอน แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นภูเขาหัวโล้นมาก่อน !


    

          ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2551 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ได้ชักชวนชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรอยู่แล้วให้ขึ้นมาปลูกพืชผักบนภูที่มีพื้นที่กว่าพันไร่ได้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แต่มีข้อตกลงเดียวคือ หลังเก็บผลผลิตแล้วจะต้องช่วยกันปลูกต้นไม้ทดแทน เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์โดยทางอุทยานฯ นำต้นกล้าต้นนางพญาเสือโคร่งมาให้ปลูก 

          ผ่านไปหลายปี ผลผลิตสำคัญของชาวบ้านที่ขึ้นไปทำการเกษตรบนภูลมโลคือขิง เพราะการปลูกขิงจะต้องไม่ปลูกซ้ำในที่ดินเดิม จะต้องปลูกหมุนเวียนพื้นที่ไปเรื่อยๆ การที่อุทยานฯ เปิดพื้นที่บนภูให้ปลูกได้ จึงเหมาะกับธรรมชาติการปลูกขิง ทำให้ขิงและผลิตภัณฑ์จากขิงกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อที่สำคัญของชุมชนกกสะทอน ผลพลอยได้ที่ตามมา คือภูเขาหัวโล้นที่ใช้ทำการเกษตรได้กลายเป็นทุ่งสีชมพูบานสะพรั่งทั่วทั้งภู ด้วยต้นนางพญาเสือโคร่งนับแสนต้นที่ทำหน้าที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มายลความงามของทุ่งซากุระเมืองไทยในช่วงเดือนมกราคมถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์กันเนืองแน่น จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ด้วยฉายา “ภูลมโล หุบเขาสีชมพู” ซึ่งถือเป็นแหล่งชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
ไฮไลต์สำคัญของการชมดอกนางพญาเสือโคร่งคือ “ขึ้นวันเดียว เที่ยวสามภู ดูสามจังหวัด” ได้แก่ ภูลมโล จ.เลย ภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก และภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์                  นอกจากมาชมความงามของดอกนางพญาเสือโคร่งแล้ว การท่องเที่ยวในชุมชนบ้านกกสะทอนก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ ซึ่งมีชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอนรับผิดชอบดูแลบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวชุมชนอยู่ ซึ่งเดิมทีจัดตั้งขึ้นเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์แปรรูปท้องถิ่น ต่อมาจึงขยายมาด้านการท่องเที่ยวโดยแบ่งหน้าที่กันชัดเจน ได้แก่ กลุ่มรถที่จะขึ้นภูไปชมดอกไม้ กลุ่มโฮมสเตย์ด้านล่างก่อนขึ้นภูเพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าจากการพักแรมบนภู และกลุ่มอาหาร

 


       

          ทั้งนี้ ชุมชนกกสะทอนยังมุ่งเน้นการพัฒนาและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชนที่มีศักยภาพและยั่งยืน ให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างต้นนางพญาเสือโคร่งที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในชุมชน รวมถึงเคารพสังคม วัฒนธรรม และประเพณี รวมทั้งร่วมกันรักษาอัตลักษณ์เดิมของชุมชนเอาไว้ไม่ให้สูญหายไป ทำให้ได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบจาก อพท. เมื่อธรรมชาติสร้างอาชีพและมอบรายได้จากการท่องเที่ยวให้ชุมชน ทำให้ชาวเมืองเลยไม่ว่าจะอยู่อำเภอไหนต่างก็รักและหวงแหนธรรมชาติของพวกเขา เป็นต้นแบบแห่งความรักของคนและผืนป่าอย่างแท้จริง