องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

เส้นทางท่องเที่ยว “อัศจรรย์ธรรมชาติ ธรณีวิทยาเชียงราย”

1704815640
ขนาดตัวอักษร

เส้นทางท่องเที่ยว “อัศจรรย์ธรรมชาติ ธรณีวิทยาเชียงราย”

เส้นทางเดินป่า 1 วัน พิชิตยอดเขานางนอนฟังเรื่องเล่าเหล่าบรรดาฮีโร่กับภารกิจกู้ภัยช่วยเหลือ 13 หมูป่า เส้นทางการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานธรณี (Geopark) ถ้ำหลวง -ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ภายใต้โครงการส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวศักยภาพสูงที่หลากหลายและโดดเด่น โดยเน้นรูปแบบการท่องเที่ยวอุทยานธรณี (Geopark) ที่จำแนกตามระดับการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้และการผจญภัยในพื้นที่อันสอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้มาเยือน เช่น นักท่องเที่ยวทั่วไป และนักท่องเที่ยวแบบผจญภัย / นักท่องเที่ยวที่ต้องการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง

ถือเป็นเส้นทางที่นำเสนอจุดเด่นของ ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ที่เชื่อมโยงกับอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง -ขุนน้ำนางนอน และชุมชนที่อยู่โดยรอบซึ่งมีส่วนร่วมใน ภารกิจกู้ภัยช่วยเหลือ 13 หมูป่า เช่น ชุมชนบ้านผาหมี ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หนึ่งในภาพแห่งความทรงจำข องคนไทย คือภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประทับบนล่อที่ชาวบ้านจูง ระหว่างเสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกรชาวเขา หลายคนอาจไม่รู้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่บ้านผาหมีแห่งนี้ ชุมชนในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นชาวอาข่า ในอดีตอาศัยอยู่บนยอดดอยชายแดนไทยพม่า ชาวบ้านทำอาชีพปลูกฝิ่นตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย แต่การเสด็จฯ ของพระองค์ในวันนั้นเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาไปตลอดกาล จากฝิ่นได้เปลี่ยนมาปลูกกาแฟ ซึ่งมีผลผลิตดีที่สุด รองลงมาคือลิ้นจี่ และแมคคาเดเมีย และในเหตุการณ์ภารกิจช่วยเหลือ 13 หมู่ป่า ในปี 2561 บ้านผาหมี ถือเป็นอีกจุดสำคัญของภารกิจ อาทิเช่น การปิดทางน้ำบริเวณลำห้วยน้ำดั้น การมีปล่องที่จะเข้าไปช่วยเหลือซึ่งลงสำรวจแล้วถึง 400 เมตร ฯลฯ ทุกคนในหมู่บ้านต่างภาวนา ร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือเด็กๆ ในทุกๆ ทางปัจจุบันชุมชนบ้านผาหมีกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ด้วยรสชาติของกาแฟ ท่ามกลางบรรยากาศความงดงามของที่นี่จะเห็นวิวภูเขาที่มีรูปทรงสวยงามอากาศสดชื่นเย็นสบาย

ลักษณะทางภูมิประเทศและธรณีวิทยา
"ถ้ำหลวงนางนอน" มีภูมิประเทศแบบคาสต์ (Karst topography) กล่าวคือ การที่น้ำสามารถไหลลงสู่ใต้ดินได้ทางช่องหรือรูที่เปิดด้านบนพื้นผิวและไหลผ่านทางน้ำใต้ดินและถ้ำใต้ดินซึ่งอาจไหลไปโผล่ที่ห่างไกลออกไปทำให้เกิดเป็นน้ำพุ โดยในขณะที่ทางน้ำไหลผ่านใต้ดินอย่างต่อเนื่องนั้น ภูมิประเทศใต้ดินก็จะพัฒนาให้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ โดยบริเวณนี้จะเกิดความสัมพันธ์กับรอยแตกและรอยเลื่อนในหินปูน ซึ่งมีทิศทางหลักในทิศเหนือ ใต้ และทิศทางรองในทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จึงทำให้เทือกเขาแห่งนี้มีลักษณะคล้ายผู้หญิงนางนอน และภายในถ้ำได้มีการพัฒนาทางธรณีเกิดหินงอก หินย้อย และเสาหิน รวมทั้งรูปร่างของถ้ำหรือหลุมยุบที่มีลักษณะสวยงามแปลกตา

 


 

  • ไฟล์แนบ :
    ๑. เส้นทางอัศจรรย์ธรรมชาติ ธรณีวิทยาเชียง.pdf
  • Rate :
  • ขนาดไฟล์ :
    9.380
  • จำนวนดาวน์โหลด :
    7 ครั้ง