องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ตามรอยประวัติศาสตร์ ณ ชุมชนวัดชลธาราสิงเห จ.นราธิวาส เรียนรู้ภาษาถิ่นตากใบ

1625591220
ขนาดตัวอักษร

          เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์การแบ่งพรมแดนไทย-มาเลเซีย ที่ชุมชนวัดชลธาราสิงเห ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ ชุมชนที่มีความสำคัญในสมัยยุคล่าอาณานิคม พร้อมทำความรู้จักภาษาเจ๊ะเห ภาษาถิ่นตากใบที่เป็นเอกลักษณ์
 


          แสงแดดอ่อน ๆ ยามเช้าส่องสะท้อนกับแม่น้ำตากใบเกิดความแวววับ แว่วเสียงเครื่องยนต์ของเรือประมงพื้นบ้านที่ภาพค่อย ๆ เลือนหายไปตามโค้งน้ำ สภากาแฟยามเช้าเริ่มมีควันไฟและเสียงพูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ นี่คือชีวิตที่พบเห็นได้ในทุกเมื่อเชื่อวันเมื่อมาเยือน “ชุมชนวัดชลธาราสิงเห” ชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีความหมายในทางประวัติศาสตร์ เพราะถูกใช้ในการกำหนดพรมแดนไทย-มาเลเซีย ยุคล่าอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สำคัญคือมีอัตลักษณ์ของตนเองอย่างชัดเจน นอกจากนี้คนในชุมชนยังนำต้นทุนที่ดี ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ภาษา อาหาร และวิถีชุมชนแบบดั้งเดิม จนก่อเกิดเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่น่าสนใจ ดังนั้น จึงเป็นชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบของการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism : CBT) และได้รับรางวัล DASTA Award ระดับการพัฒนาดี สาขาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ในปี พ.ศ. 2562 จากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. อีกด้วย
 


          หากแต่เสน่ห์ที่ล้นเหลือของชุมชนแห่งนี้ นอกเหนือจากวิถีชีวิตของชาวบ้านและอาหารการกินแล้ว "วัดชลธาราสิงเห" และ "ภาษาเจ๊ะเห" ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ควรค่าแก่การไปตามรอยและทำความรู้จักกันให้มากขึ้น

วัดชลธาราสิงเห หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย...ให้คงอยู่

          - ประวัติวัดชลธาราสิงเห

          วัดชลธาราสิงเห พระอารามหลวง ชั้นตรี ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำตากใบ บริเวณหมู่ 3 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2403 ตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระครูโอภาสพุทธคุณ (ท่านอาจารย์พุด) หลังจากได้ขอที่ดินจากผู้ปกครองรัฐกลันตันเพื่อสร้างวัด โดยในครั้งนั้นเรียกกันว่าวัดท่าพรุ หรือวัดเจ๊ะเห ซึ่งการสร้างวัดในระยะแรกจะมีเพียงแค่อาคารที่สร้างด้วยไม้ เช่น กุฏิ ศาลา ส่วนอุโบสถไม้สร้างในน้ำ เรียกว่า นทีสีมา ต่อมาใน พ.ศ. 2416 พระครูโอภาสพุทธคุณได้สร้างอุโบสถและพระประธานในอุโบสถ พร้อมทั้งเขียนภาพในอุโบสถและในกุฏิ ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้น ผ่านลายเส้นที่สะท้อนให้เป็นถึงวิถีชีวิตต่าง ๆ และใน พ.ศ. 2426 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

 


          ต่อมาในสมัยที่พระครูนราเขตสังฆกิจเป็นเจ้าอาวาส ได้เอานามที่เกี่ยวกับน้ำของวัดนี้ และบุญญาธิการของพระครูโอภาสพุทธคุณที่มีอิทธิฤทธิ์ดุจสิงห์ มาตั้งชื่อวัดเสียใหม่ว่า "วัดชลธาราสิงเห" รวมทั้งได้ก่อสร้างและปรับปรุงอาคารเสนาสนะต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น วิหาร กุฏิ ศาลา บ่อน้ำ หอระฆัง หอไตร และศาลาท่าน้ำ เป็นต้น

          อีกหนึ่งเรื่องน่าสนใจของวัดแห่งนี้ คือ เป็นวัดสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อังกฤษต้องการยึดครองมลายู ไทยได้ตกลงทำสัญญากับอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2451 ยอมยกดินแดนไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้อังกฤษ ซึ่งในการปักปันเขตแดนกันนั้น อังกฤษได้ลากเส้นเขตแดนโดยใช้สันเขาและแม่น้ำเป็นแนวตามหลักสากล ทำให้เข้าไปถึงบ้านปลักเล็ก (อยู่ระหว่างอำเภอเมืองนราธิวาส กับอำเภอตากใบ) แต่ไทยแย้งว่าดินแดนแถบนี้เป็นของไทย โดยอ้างอุโบสถวัดชลธาราสิงเหที่ก่อสร้างตามแบบศิลปะไทย อังกฤษจึงยอมเลื่อนการปักปันเขตแดนถอยลงไปทางใต้จนถึงแม่น้ำโก-ลก ทำให้ดินแดนแถบนี้คงเป็นของไทยมาตราบเท่าทุกวันนี้ วัดชลธาราสิงเหจึงได้รับการขนานนามว่า "วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย" ตั้งแต่นั้นมา
 


          - สิ่งน่าสนใจ

          วัดชลธาราสิงเห มีความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมพื้นบ้านภาคใต้ ที่รับอิทธิพลศิลปะตะวันตกเข้ามาประสมประสานอยู่อย่างสวยงาม อาคารแต่ละหลังมีการประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุ ที่มีรูปแบบเป็นศิลปะพื้นบ้านที่วิจิตรบรรจง โบราณสถานในวัดชลธาราสิงเห ได้แก่ อุโบสถ, กุฏิเจ้าอาวาส, กุฏิสิทธิสารประดิษฐ์, กุฏิพระครูวิมลถาปนกิจ, หอระฆังหลังคาทรงมณฑป, หอระฆังหลังคาทรงจตุรมุข, หอพระนารายณ์, เจดีย์ทรงลังกา, ศาลาโถง และศาลาท่าน้ำ เป็นต้น
 


          - การเดินทาง

          รถยนต์ส่วนตัวให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 4084 นราธิวาส-ตากใบ ถึงสี่แยกตลาดอำเภอตากใบ เลี้ยวซ้าย 100 เมตร จะถึงปากทางเข้าวัด หรือนั่งรถโดยสารประจำทางเส้นที่จะไปอำเภอตากใบ ซึ่งมีรถสองแถว รถตู้ และรถบัส ขึ้นที่สถานีขนส่งนราธิวาส ลงสามแยกอำเภอตากใบ เดินเข้าไปอีก 500 เมตร

ภาษาเจ๊ะเห ภาษาถิ่นของคนตากใบ

          ภาษาถิ่น เป็นเสมือนลักษณะเฉพาะของผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ โดยจะมีลักษณะเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำหรือสำเนียง ตากใบก็เช่นกัน อำเภอนี้มีภาษาถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ นั่นคือ ภาษาตากใบ หรือภาษาเจ๊ะเห ที่คนในพื้นที่ใช้พูดคุยสื่อสารกัน จะเป็นสำเนียงไพเราะ นุ่มนวล เนิบช้า และอ้อยส้อย ไม่เหมือนภาษาถิ่นใต้อื่น ๆ ว่ากันว่าเกิดจากการผสมผสานภาษาสุโขทัยโบราณ ภาษาขอม และภาษามลายู เข้าด้วยกัน จึงยังคงมีคำราชาศัพท์ปนอยู่ โดยชาวไทยพุทธในพื้นที่นราธิวาสส่วนใหญ่จะพูดภาษาเจ๊ะเหเป็นหลัก
 


 ภาษาเจ๊ะเห


          ทั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ขึ้นทะเบียนภาษาเจ๊ะเห เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขาภาษา เมื่อปี พ.ศ. 2556

          นอกจากการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่วัดชลธาราสิงเห และเรียนรู้ภาษาเจ๊ะเหแล้ว ชุมชนวัดชลธาราสิงเหยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวอีกมากมายให้ได้ไปสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นเดินข้ามสะพานคอย 100 ปี สะพานไม้ทอดยาวไปเที่ยวชมเกาะยาว เพื่อดื่มด่ำกับวิถีชีวิตชาวประมงพื้นถิ่น, ชมการผลิตปลากุเลาเค็ม ของขึ้นชื่ออำเภอตากใบ, ชมผ้าทอพื้นเมือง และลิ้มลองรสชาติความอร่อยของอาหารพื้นถิ่นตากใบอย่างข้าวยำกือหยา ต้มยำไก่ใบกือเสม และขนมคนที เป็นต้น โดยกิจกรรมทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน และได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากการท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่เพิ่มเติมอย่างยั่งยืนได้ เอาเป็นว่าหากมีโอกาสไม่ควรพลาดการไปเยือนชุมชนแห่งนี้สักครั้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก
วัดชลธาราสิงเห
เว็บไซต์ cbtthailand.dasta.or.th
เฟซบุ๊ก ชุมชนท่องเที่ยวตากใบ
เว็บไซต์ narathiwat.go.th