องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

อพท. เล็งส่ง "เมืองพัทยา" ประกวดเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์สาขาภาพยนตร์

1625659200
ขนาดตัวอักษร

            อพท. ดัน "เมืองพัทยา" เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์สาขาภาพยนตร์ของ UNESCO มั่นใจเป็นเมืองอุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์ในระดับต้นน้ำและกลางน้ำที่มีคุณภาพ 
 


 

            หากเอ่ยถึง "เมืองพัทยา" คนส่วนใหญ่จะนึกถึงภาพแหล่งท่องเที่ยวยามราตรี สถานบันเทิง ที่คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติจากนานาประเทศ ทั้งจากยุโรป สแกนดิเวีย รัสเซียและจีน ที่มาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เพียงแค่สถานบันเทิงยามค่ำคืนเท่านั้น แต่ "เมืองพัทยา" ยังมีชายหาด ทะเลสวยงาม ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้หลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวด้วย แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่า "เมืองพัทยา" เป็นสถานที่มีอัตลักษณ์ หรือ ทรัพยากรทางวัฒนธรรมของเมือง หรือ กิจกรรมของเมือง หรือพื้นที่ ตามองค์ประกอบของการเป็นเมืองสร้างสรรค์

          ดร.ชูวิทย์  มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า สำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 หรือ อพท. 3 อยู่ระหว่างศึกษาและผลักดันให้ "เมืองพัทยา" เข้าประกวดเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities Network) สาขาภาพยนตร์ (Film) ในโครงการ "เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก" (UNESCO Creative Cities Network หรือ UCCN) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ในปีงบประมาณ 2570

 


ดร.ชูวิทย์  มิตรชอบ
 

            ดร.ชูวิทย์ กล่าวว่า "เมืองพัทยา" เป็นอุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์ในระดับต้นน้ำและกลางน้ำที่มีคุณภาพ มีสถานที่ถ่ายทำที่สามารถรองรับการถ่ายทำภาพยนตร์  มีโอกาสส่งเสริมด้านการลงทุน รวมทั้งเชื่อมโยงการตลาดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อาทิ การจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ (Film Festival)  เพราะมีความพร้อมของสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมระดับนานาชาติ อาทิ ที่จัดประชุม รวมถึงโรงแรมที่พัก  นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ที่สำคัญรัฐบาลอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบขนส่งให้เชื่อมโยง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง อาทิ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา รถไฟฟ้าความเร็วสูง เป็นเมือง Mice City อยู่ในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สิ่งเหล่านี้จะทำให้ "เมืองพัทยา" เข้าเกณฑ์ที่จะเข้าประกวด เมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities Network) สาขาภาพยนตร์ (Film)

            อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงวัฒนธรรมเคยจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็นเมืองภาพยนตร์ ตามหลักเกณฑ์การเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ (City of Film) ของ UNESCO ไว้แล้ว

          โดยแนวทางการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ ประกอบด้วย นโยบายและแผนการลงทุนของภาครัฐหลายด้าน ตั้งแต่การลงทุนสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐานและการเรียนรู้ การปรับปรุงกฎระเบียบ และการสนับสนุนด้านการเงินให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัยของผู้ประกอบการสร้างสรรค์ รวมถึงการจัดกิจกรรมระดับเมืองและระดับชาติที่หลากหลาย เพื่อสะท้อนเอกลักษณ์และภาพลักษณ์ของเมืองสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม หาก "เมืองพัทยา" ได้รับเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านภาพยนตร์ จะช่วยให้พัทยาเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับให้พัทยามีชื่อเสียงระดับโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศให้เดินทางมาเยือนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากเมืองที่เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จากทั่วโลก" ดร.ชูวิทย์ กล่าว
 


          ปัจจุบันเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกทั่วโลกมีทั้งหมด 246 เมือง โดยเมืองสมาชิกที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย จะถูกคัดเลือกมาจากทุกทวีปและภูมิภาคที่มีระดับรายได้และประชากรแตกต่างกัน และมีการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุภารกิจร่วมกัน ดังนั้น การวางความคิดสร้างสรรค์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เป็นแกนหลักของแผนพัฒนาเมืองของแต่ละเมืองที่ได้รับคัดเลือกนั้นจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และสอดคล้องกับวาระการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของสหประชาชาติภายในปี พ.ศ. 2573