องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

สัมผัสวิถีคนกับช้าง ณ ดินแดนคชสาร เมืองสุรินทร์ถิ่นช้างไทย

1625653680
ขนาดตัวอักษร

          แนะนำชุมชนคนเลี้ยงช้างในจังหวัดสุรินทร์ ที่บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม และบ้านขุนไชยทอง อำเภอชุมพลบุรี เรียนรู้วิถีชีวิตความผูกพันระหว่างคนเลี้ยงกับช้าง พร้อมทำกิจกรรมท่องเที่ยวต่าง ๆ มากมาย

          สุรินทร์ ดินแดนคชสารที่ตั้งอยู่ภาคอีสานตอนใต้ โดดเด่นด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งเขมร ไทย กูย จีน และญวน แม้จะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างก็อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน โดยแต่ละชนชาติได้สืบทอดเอกลักษณ์และประเพณีที่สวยงามในแบบของตัวเอง ตลอดจนประวัติศาสตร์ทรงคุณค่าทั้งโบราณสถานและปราสาทหิน ก็ล้วนเป็นมรดกสำคัญของชาติทั้งสิ้น ดังนั้น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จึงมอบหมายให้สำนักงานพื้นที่พิเศษอารยธรรมอีสานใต้  (อพท.2) ปฏิบัติภารกิจในการประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนทุกภาคี เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว อย่างในจังหวัดสุรินทร์ ก็คือ เส้นทางช้างโบราณ-ช้างปัจจุบัน เพราะมีทั้ง "ศูนย์คชศึกษา" อำเภอท่าตูม ที่สามารถไปชมความน่ารักของช้างในโลกปัจจุบัน และ "บ้านขุนไชยทอง" อำเภอชุมพลบุรี ที่จะได้สัมผัสกับช้างที่เลี้ยงแบบไม่ใช้ตะขอ อีกด้วย
 


ความผูกพันระหว่างคนกับช้างของ "บ้านตากลาง"

          ศูนย์คชศึกษา หรือหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง แหล่งชุมชนชาวกูยที่มีความผูกพันกับช้างมาแต่โบราณ ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เป็นหมู่บ้านเลี้ยงช้างขนาดใหญ่ และเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมของชาวกูยอีกด้วย โดยแต่เดิมชาวกูยเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีทักษะในการจับช้างและฝึกช้างเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในสมัยอดีตช้างจะถูกนำมาใช้งานเพื่อการทำสงคราม โดยมีชาวกูยคอยทำหน้าที่จัดเตรียมช้างเอาไว้ และเมื่อการสงครามเสร็จสิ้นก็จะนำช้างเหล่านั้นมาฝึกเพื่อใช้ในการแสดงต่าง ๆ จนกลายเป็นทักษะที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งยังสร้างรายได้เลี้ยงชุมชนเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

 


 

          ความเอาใจใส่ตลอดจนการดูแลเหล่าบรรดาช้างแต่ละเชือก ก่อเกิดเป็นสายสัมพันธ์ที่ส่งต่อให้ผู้มาเยือนอย่างเราสัมผัสได้ ช้างที่นี่จะได้รับการเลี้ยงดูราวกับเป็นสมาชิกในครอบครัว ทุกเชือกกินอิ่มนอนหลับ พร้อมด้วยเสบียงอาหารอุดมสมบูรณ์ ดังจะเห็นว่าทุกงานประเพณีและการดำรงชีวิตของชาวบ้านตากลาง ยังคงมีความเกี่ยวข้องกับช้างอยู่เสมอ รวมถึงภายในศูนย์คชศึกษายังมีหลากหลายกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมสนุกกับช้าง ไม่ว่าจะเป็น พาช้างเล่นน้ำ, การแสดงโชว์ความสามารถของช้าง ทั้งเต้นรำ วาดรูป ปาเป้าลูกโป่ง และเตะฟุตบอล

          เรื่องราวความผูกพันระหว่างคนและช้างที่บ้านตากลางยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เมื่อใดก็ตามที่ช้างหมดอายุขัย ชาวบ้านก็จะทำพิธีให้เช่นเดียวกับคน เดินทางจากหมู่บ้านช้างออกมาเพียง 1 กิโลเมตร จะเจอกับ "สุสานช้าง" สถานที่ฝังศพช้างที่ล้มให้กลับคืนถิ่นมาอยู่ร่วมกัน ตลอดจนเป็นสถานที่เก็บรวบรวมโครงกระดูกและประวัติชาติพันธุ์ของช้าง แหล่งศึกษาสืบค้นข้อมูลช้าง ที่มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทยและแห่งเดียวในโลก
 


ภาพจาก Wunlop_Worldpix_Exposure / Shutterstock.com
 

ความผูกพันระหว่างคนกับช้างของ "บ้านขุนไชยทอง"

          บ้านขุนไชยทอง เป็นหมู่บ้านที่เลี้ยงช้างมากที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ เดิมทีบรรพบุรุษได้มีการคล้องช้างมาไว้ใช้งานและได้รับมรดกสืบต่อกันมาเป็นทอด ๆ ในอดีตที่ปู่ย่าตายายได้อพยพมาจากดินแดนติดกับชายแดนประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นชุมชนเขมรและกูย โดยได้ทำการขนสัมภาระ สิ่งของที่จำเป็น มีช้างเป็นพาหนะ โดยเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีแหล่งน้ำอยู่รอบ ๆ และมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะเป็นแหล่งอาหารของคนและช้าง จึงได้สร้างที่พักชั่วคราว ตลอดจนบุกเบิกพื้นที่เพื่อทำการปลูกข้าว และใช้ช้างเป็นแรงงานขนข้าวจากนา ต่อมาเมื่อมีผู้คนอพยพมาเป็นจำนวนมากขึ้น จึงได้ตั้งหมู่บ้านนี้ขึ้นมาใหม่ชื่อว่า "หมู่บ้านขุนไชยทอง"

          หากแต่ในอดีตหมู่บ้านแห่งนี้เคยเป็นหมู่บ้านที่ควาญพาช้างออกไปเร่ร่อนหาเงินตามจังหวัดต่าง ๆ นำมาซึ่งปัญหามากมาย จนมีโครงการ “พาช้างกลับบ้าน นำควาญคืนถิ่น” ของจังหวัดสุรินทร์ ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของหมู่บ้านช้างขุนไชยทอง จากที่เคยไปเร่ร่อนก็กลับมาอยู่กับครอบครัว เปิดเป็นโฮมสเตย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับชุมชน ตลอดจนเรียนรู้ประเพณีท้องถิ่นสำคัญ เช่น ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา บุญบ้าน สงกรานต์ ก่อเจดีย์ข้าวเปลือก แซนโฎนตา บุญข้าวจี่ เซ่นปะกำช้าง เป็นต้น หากแต่กิจกรรมที่มักเรียกรอยยิ้มและความอบอุ่นจากนักท่องเที่ยว นั่นคือ การให้อาหารเลี้ยงช้าง การพาช้างเดินเที่ยวโดยไม่มีการขึ้นไปนั่งบนหลังช้าง และการพาช้างลงเล่นน้ำ

          เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้านช้างขุนไชยทองมากขึ้น ทำให้ควาญช้างและคนในหมู่บ้านมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว ตลอดจนเรียกช้างให้กลับคืนถิ่น ทั้งนี้ จะสังเกตได้ว่าช้างทุกเชือกที่อยู่กับนักท่องเที่ยวจะไร้ซึ่งพันธนาการ เพราะผ่านการฝึกให้เชื่องและปรับตัวให้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมเป็นที่เรียบร้อย

          วิถีความผูกพันระหว่างช้างกับคน ณ บ้านตากลาง และบ้านขุนไชยทอง ยังคงได้รับการสืบสานต่อไป และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ต่างยังคงรักษาความเป็น "เมืองช้าง" ที่มีการเลี้ยงช้างควบคู่ไปกับประวัติอันยาวนาน และสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดสุรินทร์ถิ่นแดนช้างสืบต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ surin.cdd.go.th
เว็บไซต์ ref.codi.or.th
เว็บไซต์ pandinthong.com