องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ยกระดับภาพลักษณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้

1625805360
ขนาดตัวอักษร

           อพท. ชูการท่องเที่ยวโดยชุมชน เครื่องมือพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม หวังยกระดับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 


สกายวอล์กทะเลหมอกอัยเยอร์เวง


           ความไม่มั่นใจในสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยไม่กล้าที่จะเข้าไปท่องเที่ยว ทั้งที่ใน 3 จังหวัดดังกล่าวมีทรัพยากรธรรมชาติที่งดงาม อุดมสมบูรณ์และมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย อพท. จึงเข้าไปพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมีเป้าหมายยกระดับภาพลักษณ์การท่องเที่ยว

           นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. มีนโยบายการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวแบบเข้าถึงได้ ซึ่งได้ส่งเสริมในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยใช้กลยุทธ์การสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย พร้อมแผนการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ใน 14 แห่ง ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรท้องถิ่นที่ดีมากอยู่แล้ว ทั้งด้านธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย เพียงแต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเดินทางเข้าถึงหรือภาพลักษณ์ของพื้นที่อาจจะทำให้ไม่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมากนัก
 


นางสาววัชรี ชูรักษา
 

           เมื่อปี 2561 อพท. ได้รับมอบหมายและมีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมีโจทย์การพัฒนาคือ เพื่อใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม และยกระดับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

           อพท. จึงได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่และหน่วยงานสนับสนุนจากส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว., สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส., มหาวิทยาลับราชภัฏสงขลา, จังหวัดยะลา, จังหวัดปัตตานี, จังหวัดนราธิวาส และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.

          โดยมีการลงนามความร่วมมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนร่วมกัน เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ถึงแนวทางในการบูรณาการการทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงการลงพื้นที่สำรวจศักยภาพและทำแผนการพัฒนาร่วมกันกับชุมชนเป้าหมาย และร่วมกันพัฒนาศักยภาพชุมชนทั้งการศึกษาดูงานการบริหารจัดการชุมชนต้นแบบในพื้นที่พิเศษของ อพท. การพัฒนาด้านการออกแบบโปรแกรมนำเที่ยว การออกแบบภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาการสื่อความหมาย การพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การทดสอบกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยผู้ประกอบการท่องเที่ยว การนำเสนอกิจกรรมการท่องเที่ยวสู่ตลาดคุณภาพ การประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน และการติดตามประเมินผลการพัฒนา ในช่วงปี 2561-2563 ที่ อพท. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย และได้ทำงานเพื่อพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนใน 14 ชุมชนต้นแบบ ได้แก่

           จังหวัดยะลา 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 9 ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ชุมชนตาพะเยา ชุมชนอัยเยอร์เวง และชุมชนรามัญ

           จังหวัดปัตตานี 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนทรายขาว ชุมชนบางปู ชุมชนตะโละกาโปร์ ชุมชนบานา และชุมชนยะรัง

           จังหวัดนราธิวาส 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนวัดชลธาราสิงเห ชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ชุมชนบ้านภูเขาทอง และชุมชนตลาดน้ำยะกัง
 


วัดชลธาราสิงเห

           ผลลัพธ์ของการพัฒนาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชุมชนดังกล่าวมีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น มีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยว ได้รับการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยชุมชนมีความพร้อมในการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวหลักที่ได้รับการพัฒนาคู่ขนานกันไปกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนจุฬาภรณ์ 9 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดี เนื่องจากมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหลัก Sky Walk ดูทะเลหมอก และบ่อน้ำพุร้อน อีกทั้งยังมีทำเลเชื่อมโยงกับโรงแรมที่พัก และร้านอาหารสูตรเด็ดต่าง ๆ ในอำเภอเบตง ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซียอยู่แล้ว

           ขณะเดียวกันมีการพัฒนาสนามบินเบตงซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้ คาดว่าหากสนามบินเปิดบริการ การเดินทางจะสะดวกมากขึ้น แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวก็จะเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ชุมชนก็ได้เตรียมพร้อมในการเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวและที่พัก ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ชอบความสงบหรือความเป็นธรรมชาติก็สามารถเลือกท่องเที่ยวได้ เป็นการกระจายรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวหลักสู่ชุมชนได้อย่างแท้จริง

           ในปี 2563 อพท. ได้มีการส่งมอบผลลัพธ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนดังกล่าวให้กับหน่วยงานร่วมพัฒนานำไปขยายผลและต่อยอด และหลังจากนี้ อพท. ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยวพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ จะยังคงทำหน้าที่ในการประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปสู่ความยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนต่อไป