องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

10 เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เรียนรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอีสานใต้

1625657100
ขนาดตัวอักษร

          กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จากฐานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอีสานใต้ ที่สะท้อนถึงความเป็นอยู่ของแต่ละพื้นที่ อีกทั้งยังสืบสานและต่อยอด เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

          รากเหง้าคือสิ่งที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของชนชาตินั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี ในประเทศไทยเองแต่ละภูมิภาคก็มีอัตลักษณ์ของตนเอง ทั้งประเพณี วัฒนธรรม และมรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ล้วนแล้วแต่ถูกถ่ายทอดและสืบสานจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน อย่างในพื้นที่อีสานใต้ที่ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี ก็มีความโดดเด่นที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะศิลปะการแสดง งานช่างฝีมือ หรือการละเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น จนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อันทรงคุณค่า


กิจกรรมผ้าภูอัคนี จังหวัดบุรีรัมย์


รู้จักความหมายของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

          คำว่า "มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้" (Intangible Cultural Heritage) เริ่มเข้ามาสู่แวดวงการทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม เมื่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of Intangible Cultural Heritage) ทั้งหมด 40 มาตรา ในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 32 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ รวมถึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 133 ตอนที่ 19 ก เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 มาตรา 4 ได้ระบุไว้ว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการส่งเสริมและรักษาตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

          1. วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา
          2. ศิลปะการแสดง
          3. แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล
          4. ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
          5. งานช่างฝีมือดั้งเดิม
          6. การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว
          7. ลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

เส้นทางท่องเที่ยวในการร่วมทำกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จากฐานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอีสานใต้

          องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และเพื่อให้สามารถสืบต่ออย่างยั่งยืน อพท. ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย คัดเลือก และพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อารยธรรมอีสานใต้ จำนวน 10 กิจกรรม ดังนี้

          1. กิจกรรมเพลงโคราช อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เรียนรู้เพลงโคราช ณ วัดศาลาลอย สถานที่บรรจุอัฐิของท้าวสุรนารี พร้อมกับแต่งกายย้อนยุคด้วยการโจงกระเบน จากนั้นหมอเพลงจะสอนการร้องเพลงโคราช เบื้องต้นจะเริ่มต้นด้วยการฝึกร้องโอ่ และทดลองร้องเนื้อร้องเป็นภาษาโคราช เมื่อเริ่มร้องเป็นแล้ว สามารถขึ้นเวทีร้องเพลงโคราช พร้อมการรำประกอบเพลง
          
          2. กิจกรรมรำโทนพันปี บ้านมะค่า อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ทำความรู้จักกับการตีโทน การรำโทน และได้ชมปราสาทพนมวัน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่บ้านมะค่า อำเภอเมืองนครราชสีมา

          3. กิจกรรมเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน บ้านด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ศึกษากระบวนการทำดินเผาด่านเกวียนตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การปั้น การเผา สามารถลงมือปั้นดินด้วยตนเอง

          4. กิจกรรมผ้าภูอัคนี บ้านเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ สนุกกับการย้อมสีจากวัตถุดิบธรรมชาติ การใช้ดินภูเขาไฟมาย้อมผ้า และเทคนิคในการทำให้สีติดทนนาน นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้การย้อมสีจากใบไม้ เปลือกไม้ ชนิดต่าง ๆ ทำให้ได้ผ้าที่มีสีสันจากธรรมชาติอย่างสวยงาม สามารถออกแบบการมัดย้อมผ้าด้วยตนเอง และได้รับผ้ามัดย้อมฝีมือตนเองกลับไปเป็นของที่ระลึก

          5. กิจกรรมผ้าไหมหางกระรอกคู่ตีนแดง บ้านสนวนนอก อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ นักท่องเที่ยวจะได้ทั้งเดินชมชุมชนบ้านสนวนนอก และเรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การเลี้ยงตัวไหม การสาวไหม การควบเส้นในการปั่นด้าย การทอผ้าไหม นอกจากนี้ยังสามารถลงมือทำผลิตภัณฑ์จากเส้นไหมกะนีว เช่น ต่างหู สร้อยคอ เป็นต้น

         6. กิจกรรมนวดไทยคลายเส้น บ้านโคกใหญ่-เขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ รู้จักกับพืชสมุนไพรในสวนสมุนไพร พร้อมร่วมกิจกรรมการแช่มือแช่เท้าเพื่อปรับสมดุลของร่างกาย การนวด และการลงมือทำลูกประคบ  

          7. กิจกรรมวิถีคนเลี้ยงช้าง บ้านขุนไชยทอง อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ เรียนรู้การเลี้ยงช้างโดยไม่ใช้ตะขอ ทำกิจกรรมเลี้ยงช้างโดยการป้อนอาหารให้ช้าง พาช้างไปอาบน้ำ และถ่ายรูปกับช้าง

          8. กิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรมชาวกูย บ้านอาลึ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ นักท่องเที่ยวเข้าไปในหมู่บ้านอาลึ จะเริ่มต้นด้วยการไหว้ศาลปู่ตา ทำการทำนายโดยใช้คางไก่ต้ม ชมการแสดงรำแกลมอ-แกลออ และลงมือทำสร้อยว่านเปราะหอมด้วยตนเอง

          9. กิจกรรมศิลปะการแสดงกะโน้บติงตอง บ้านโพธิ์กอง อำเภอเชื้อเพลิง จังหวัดสุรินทร์ ศึกษาความเป็นมาของการแสดงกะโน้บติงตอง ได้สวมใส่ชุดกะโน้บติงตอง และทำท่าเต้นเลียนแบบการกระโดดหรือการไหวตัวของตั๊กแตนตำข้าว นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ภาษาเขมรถิ่นไทย และสามารถเขียนคำในภาษาเขมรถิ่นไทยลงบนแผ่นไม้ทำเป็นพวงกุญแจ และนำกลับไปเป็นของที่ระลึกได้

          10. กิจกรรมศิลปะการแสดงกันตรึม บ้านดงมัน อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เรียนรู้ความเป็นมาของการแสดงกันตรึม ทดลองแต่งกายด้วยการโจงกระเบน และฝึกท่ารำแบบกันตรึม ซึ่งผู้สอนจะเชื่อมโยงเพื่อบำบัดอาการเจ็บป่วย เพราะท่ารำกันตรึมนับว่าเป็นท่าที่สามารถยืดเส้นยืดสายบำบัดอาการเจ็บป่วยจากความปวดเมื่อย และทำให้ร่างกายแข็งแรงได้

           และนี่คือกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อารยธรรมอีสานใต้ อีกหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เพราะได้ทั้งเรียนรู้และร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมเหล่านี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ก่อนที่จะถูกกลืนกินไปตามกาลเวลา รวมถึงยังเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับชุมชนในพื้นที่

ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 (อพท.2) อารยธรรมอีสานใต้