องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ท่องเที่ยววิถีใหม่ ต้องใส่ใจ Hygiene-Safety

1625658900
ขนาดตัวอักษร

          แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 19 หรือโควิด 19 ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง และคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนบ้างแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าทั้งนักท่องเที่ยวและชุมชนยังมีความกังวล เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยไม่กล้าเดินทาง ขณะเดียวกันทางชุมชนก็ยังไม่พร้อมที่จะเปิดบ้านต้อนรับ เพื่อความปลอดภัยของชุมชน
 


 

          นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. ได้เริ่มดำเนินการเพื่อตอบรับวิถีการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 19 หรือโควิด 19 คือ การนำมาตรฐานที่ทุกคนยอมรับมาใช้ นั่นก็คือ Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA) ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดทำมาตรฐานดังกล่าวขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ที่นับจากนี้ไปจะให้ความสำคัญกับการรับรองความปลอดภัยด้านสุขอนามัย 10 ประเภทด้วยกัน
 


นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี

 

          เริ่มตั้งแต่โรงแรมที่พักไปจนถึงแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านค้า แม้กระทั่งรถขนส่งที่ใช้รับ-ส่งนักท่องเที่ยวต้องสะอาด นั่นหมายความว่า ถ้าชุมชนไหนต้องการทำธุรกิจในเรื่องท่องเที่ยวหลังโควิด 19 ควรจะต้องได้รับการรับรองเครื่องหมาย SHA เพราะเป็นการการันตีต่อนักท่องเที่ยวว่าเข้ามาเที่ยวได้ ไม่มีปัญหาเรื่อง Hygiene และเรื่อง Safety รวมถึงช่วยส่งเสริมเรื่องของภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นได้ ซึ่งที่ผ่านมามีชุมชนที่ อพท. ดูแลดำเนินการในเรื่อง SHA จนได้รับการการันตีแล้วหลายชุมชน และมีอีกหลายชุมชนที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามมาตรฐาน
 


ภาพจาก thailandsha.tourismthailand.org


          สำหรับแนวโน้มพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวนั้น นักท่องเที่ยวยังเลือกและชื่นชอบที่จะเดินทางท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์และความรู้ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เลือกเดินทางไปยังสถานที่ที่สงบและเรียบง่ายเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตมีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อชาร์จพลังชีวิตกลับมาให้เต็มอีกครั้ง 

          ประเด็นที่น่าสนใจคือ มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่มองเรื่องการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้สามารถเข้าถึงวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ไม่ได้เที่ยวเพียงแค่การสัมผัสธรรมชาติที่สวยงาม ซึ่งเทรนด์การเดินทางท่องเที่ยวประเภทใหม่นี้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวหรือนักเดินทางเลือกที่จะเดินทางไปยังทริปที่มีความหมาย เพื่อมาเติมเต็มความต้องการ ลักษณะการเดินทางจะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เช่น กลุ่มเพื่อนฝูง กลุ่มครอบครัว หรือการจัดทริปในรูปแบบอาสาสมัคร และทริปเน้นเรียนรู้ทักษะในกลุ่มผู้เดินทางทุกช่วงวัย

          นอกจากนั้นคนรุ่นใหม่ Gen Z ที่เติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวก มีความรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับทักษะประสบการณ์ชีวิตนอกห้องเรียน เพราะโลกยุคใหม่นั้นการเรียนรู้ชีวิตที่ได้จากการเดินทางท่องเที่ยวสามารถนำมาใช้ในชีวิตจริง อีกทั้งยังชื่นชอบท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์และความรู้ใหม่ในโลกกว้างด้วย นับเป็นโอกาสอันดีที่ อพท. จะนำเสนอชุมชนในพื้นที่พิเศษต่อนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ