องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

มนตร์เสน่ห์ "เมืองเพชร" และ "ประจวบคีรีขันธ์"

1625820300
ขนาดตัวอักษร

          ความงดงามของจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่หลากหลาย จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ชายหาดทรายขาวทอดยาว อุทยานแห่งชาติ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และแหล่งท่องเที่ยวทางนันทนาการ ตลอดจนโครงการตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทั้งยังมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก
 


แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี

 

          ทั้ง 2 จังหวัดมีวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และบริบทที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มีเพียงสิ่งเดียวที่เหมือนกันคือ เป็นจังหวัดติดทะเล ทำให้เกิดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างกัน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จึงใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand ซึ่งพัฒนาจากเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) เข้าไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 2 จังหวัด เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้ชุมชนบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวของตัวเอง

 


 

          จังหวัดเพชรบุรีนั้นมีความหลากหลายด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีโครงการพระราชดำริฯ พื้นที่ป่าชายเลน โดดเด่นด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตเกษตร และกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีชายหาดหัวหินที่สวยงามและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จึงพัฒนาให้มีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนันทนาการ ซึ่งการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวจะพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์และบริบทของพื้นที่นั้น ๆ

          นายสุจินต์ มีประดิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 8 หรือ อพท.8 กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน อพท. จึงพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว 4 เส้นทาง เป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ คือ

          - เส้นทางแรก เส้นทางท่องเที่ยว จ.เพชรบุรี ภายใต้คอนเซ็ปต์ "เพชรริมเล เสน่ห์ชุมชน"
          - เส้นทางที่ 2 เส้นทางท่องเที่ยว จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ "ประจวบอัศจรรย์ สีสันชุมชน"
          - เส้นทางที่ 3 เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ "ดูเล แลเมือง ร้อยเรื่องชุมชน"
          - เส้นทางที่ 4 เป็นการท่องเที่ยวอารยสถาปัตย์ที่วัดเขาย้อย ซึ่งได้ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวทุกเพศ ทุกวัย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ สตรีตั้งครรภ์ ทุกเพศสภาพ ที่สามารถมาท่องเที่ยวได้ทั้งครอบครัว ผู้สูงอายุ ผู้พิการ สามารถขึ้นไปไหว้พระและเที่ยวได้ด้วยลิฟต์ ไม่จำเป็นต้องรอที่ตีนเขาอีกต่อไป ซึ่งเส้นทางนี้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
 


นายสุจินต์ มีประดิษฐ์

 

          ทั้งนี้ เส้นทางท่องเที่ยวจะสร้างความเชื่อมโยงของแหล่งท่องเที่ยวหลักกับแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน รวมถึงเชื่อมโยงข้ามจังหวัดในจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพิ่มความน่าสนใจด้วยกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในทุกเส้นทาง

          "เมื่อเราพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีความพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว จึงได้เชิญบริษัททัวร์ในพื้นที่ทั้งจังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ มาทดลองท่องเที่ยว เพื่อนำสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมท่องเที่ยวที่ อพท. และชุมชนร่วมกันพัฒนาขึ้นมาบรรจุลงในโปรแกรมการท่องเที่ยว เพื่อเสนอขายแก่นักท่องเที่ยว ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เพราะนักท่องเที่ยวไม่เคยท่องเที่ยวในลักษณะนี้ เป็นการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งนอกจากจะได้เห็นความงดงามของทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังได้เห็นการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวชุมชน รวมถึงได้ลิ้มรสอาหารพื้นถิ่น โดยฝีมือคนท้องถิ่น ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นอีกด้วย" นายสุจินต์ กล่าว