องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

“บ้านท่าข้ามควาย” จ.สตูล กับเรื่องเล่ากว่าจะเป็นชุมชนเข้มแข็งและพอเพียง

1625971260
ขนาดตัวอักษร

          ท่องเที่ยวบ้านท่าข้ามควาย จังหวัดสตูล เต็มอิ่มกับการชื่นชมทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลน แหล่งสร้างอาหาร สร้างงาน และอาชีพ ต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

          ณ ชุมชนเล็ก ๆ ติดชายฝั่งทะเลอันดามันของบ้านท่าข้ามควาย ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ที่แห่งนี้ถูกโอบล้อมด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าเขา ท้องนา ทะเล และอากาศที่บริสุทธิ์ ล้วนเป็นจุดเด่นอันน่าดึงดูด บนวิถีแห่งความงดงามยากจะบรรยาย เพื่อผลักดันให้เกิดชุมชนแห่งความสุข องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จึงมอบหมายให้สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน ลงไปส่งเสริมและสนับสนุนชาวบ้านในชุมชน รวมถึงประสานหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยใช้วิธีการบริหารจัดการโดยชุมชน
 


          เมื่อมาถึงที่นี่ ขอแนะนำกิจกรรมท่องเที่ยวดังนี้ ที่จะนำพาคุณไปสัมผัสกับวิถีชุมชนอันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านท่าข้ามควาย

เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของโบราณบ้านท่าข้ามควาย

          เต็มอิ่มกับการชมของเก่าหาดูยาก ที่เคยเป็นอุปกรณ์ของใช้ของคนในชุมชนสมัยก่อน มีทั้งอุปกรณ์ทำนา เครื่องมือประมง และอุปกรณ์ทำสวนยาง ทั้งยังมีของหลายชิ้นที่ยังสามารถใช้งานได้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้กับเด็ก เยาวชน และผู้ที่สนใจ ต้องการมาศึกษาค้นคว้าวิจัยกันถึงที่

กิจกรรมล่องเรือชมวิถีธรรมชาติ

          ถือเป็นกิจกรรมไฮไลต์ที่จะพานักท่องเที่ยวรู้จักหลากหลายแง่มุมของชุมชนบ้านท่าข้ามควาย อย่างการชมปรากฏการณ์ธรรมชาติสุดอันซีนของ “สันหลังมังกร” ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะเห็นความสวยงามดังกล่าว เพราะจำเป็นจะต้องรู้ช่วงเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง ซึ่งในแต่ละวันจะไม่เหมือนกัน พื้นที่บริเวณดังกล่าวเกิดขึ้นจากสันทรายสีขาว ทอดตัวยาว และโผล่มาให้เห็นยามเมื่อน้ำทะเลลด ตลอดจนยังมีจุดท่องเที่ยวน่าสนใจอื่น ๆ เช่น

          - เกาะตะบัน

          เกาะหินขนาดใหญ่ที่นักท่องเที่ยวสายแอดแวนเจอร์สามารถมาทำกิจกรรมอย่างการปีนเขา ปีนหน้าผา หรือจะมาชมซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์น้ำต่าง ๆ ที่ฝังตัวอยู่ในหินปูนและหินรูปร่างต่าง ๆ ตามธรรมชาติ นอกจากนี้ช่วงเวลาใกล้พลบค่ำ พลาดไม่ได้กับการชมฝูงค้างคาวแม่ไก่นับหมื่นตัว ทยอยบินออกจากรังด้านบนสุดของภูเขา อันเป็นกิจวัตรที่เหล่าค้างคาวบินออกหาอาหารยาวไกลนับร้อยกิโลเมตร รวมถึงนั่งชมพระอาทิตย์ตกดิน ท่ามกลางความอะเมซิ่งของธรรมชาติรังสรรค์ให้มนุษย์อย่างเราได้ชื่นชม
 


          - หอสี่หลัง อยู่ไม่ไกลจากสันหลังมังกร เนินทรายที่มีต้นไม้อยู่กลางทะเล ยามเมื่อเวลาน้ำลด จะเจอกับกองทัพปูก้ามดาบ ออกมาเดินอวดโฉมอยู่เต็มไปหมด นับเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ลองใครมาเห็นด้วยตาตัวเอง เป็นต้องประทับใจ

ชมนกเหยี่ยวคอแดง

          ณ คลองทองหอม อันอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าโกงกาง ยังมีอีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่รอให้นักท่องเที่ยวได้ชม กับกิจกรรมชมนกเหยี่ยวคอแดง ในแต่ละวันจะเห็นฝูงนกเหยี่ยวบินโฉบไป-มาเพื่อหาอาหาร ขณะเดียวกันทางชุมชนเองก็ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็น การห้ามล่าลูกเหยี่ยวเพื่อนำไปเลี้ยง รวมถึงการให้ความสำคัญกับการเพิ่มปริมาณของจำนวนเหยี่ยวด้วยเช่นกัน นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้อย่างใกล้ชิด หรือจะโพสท่าถ่ายรูปเก๋ ๆ กับฝูงนกเหยี่ยวที่บินรายล้อมรอบตัว เป็นความอันซีนที่หาเจอไม่ง่ายจากที่ไหน

นอนโฮมสเตย์และลิ้มลองอาหารพื้นถิ่น

          บ้านท่าข้ามควาย มีโฮมสเตย์ชุมชนไว้บริการ รองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาพักผ่อน ศึกษาวิถีชีวิตของคนในชุมชน รวมถึงการได้ลิ้มรสกับเมนูอาหารพื้นถิ่นที่พ่วงมาด้วยรสชาติความอร่อยอันโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ เช่น

          - แกงปัจจารี หรือแกงสับปะรด อาหารท้องถิ่นประจำจังหวัดสตูล ที่มีการผสมผสานระหว่างเครื่องเทศ ส่วนใหญ่นิยมทำขึ้นในงานมงคลต่าง ๆ ซึ่งนอกจากแกงปัจรีสับปะรดแล้ว มะเขือยาวและมะม่วงหิมพานต์สุก ก็สามารถนำมาทำแกงปัจรีได้อีกด้วย

          - ฉลูผัดไข่ อีกหนึ่งเมนูอาหารถิ่นน่าลอง โดยมีส่วนผสมสำคัญ ได้แก่ พริกขี้หนูซอย หอมแดงซอย ไข่ไก่ และเคยฉลู นำไข่ไก่ เคยฉลู หอมแดงซอย และพริกขี้หนูซอยผสมตีให้เข้ากัน หลังจากนั้นเทส่วนผสมที่เตรียมไว้ใส่ลงกระทะ ผัดคั่วให้ร่วนและแห้ง แล้วค่อยตักใส่จาน กินคู่ข้าวสวยร้อน ๆ แกล้มกับผักสด อร่อยลงตัวมาก ๆ

          - น้ำพริกกะปิและผัก เมนูอาหารสไตล์บ้าน ๆ เคล็ดลับความอร่อยของกะปิ อยู่ที่การใช้กุ้งเคย (ตัวเคย) เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต มีเอกลักษณ์รสชาติโดดเด่น นั่นคือ เนื้อกะปิเห็นเป็นตัวและตากุ้งเคย ไม่ผสมแป้ง หัวมันสำปะหลัง กลิ่นหอม และรสชาติไม่เค็ม
 


          หลากกิจกรรมที่เกิดขึ้น ณ บ้านท่าข้ามควาย เป็นสิ่งสะท้อนความร่วมมือร่วมใจของชุมชน กับภารกิจต่อยอดและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ นำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำไปสู่แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน อย่างที่เห็นและเป็นของบ้านท่าข้ามควายในทุกวันนี้

ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ natorn.go.th
เฟซบุ๊ก การท่องเที่ยวและศูนย์การเรียนรู้บ้านท่าข้ามควาย