ความเป็นมา ของสำนักงานพื้นที่พิเศษ 2
1. พระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2551 มาตรา 10 (4) ให้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ มีอำนาจในการกำหนดให้มีเขตพัฒนาการท่องเที่ยว และมาตรา 17 เพื่อประโยชน์ในการรักษา ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว หรือการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ คณะกรรมการอาจกำหนดให้เขตพื้นที่ใดเป็นเขตพัฒนาการท่องเที่ยวได้ โดยพิจารณาร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตพื้นที่ ทั้งนี้ ให้มีการรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของชุมชนในพื้นที่เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย เขตพัฒนาการท่องเที่ยวจะกำหนดเป็นกลุ่มจังหวัด จังหวัด และพื้นที่เฉพาะก็ได้โดยให้ออกเป็นกฎกระทรวง
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 ได้เห็นชอบประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยว พ.ศ. 2555 และประธานกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติได้ลงนามในประกาศฯ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ซึ่งนำไปสู่กระบวนการกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยว โดยได้มีการกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยวนำร่อง 5 กลุ่มท่องเที่ยว ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ประกอบด้วย (1) กลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา (2) กลุ่มท่องเที่ยว Active Beach (3) กลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ (4) กลุ่มท่องเที่ยว Royal Coast และ (5) กลุ่มท่องเที่ยวอันดามัน และได้มีการสำรวจความคิดเห็นและความต้องการของชุมชนและผู้แทนหน่วยงาน 18 กลุ่มจังหวัด ในปี 2556 ซึ่งมีผลการสำรวจความคิดเห็น พบว่า ร้อยละ 70 เห็นด้วยกับการกำหนดเป็นเขตพัฒนาการท่องเที่ยว เนื่องจากแต่ละจังหวัดภายในกลุ่มมีลักษณะการท่องเที่ยวที่คล้ายคลึงกัน สามารถหาจุดเด่นร่วมกันเพื่อพัฒนาเป็นจุดขาย และพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกัน ช่วยสร้างรายได้และความเข้มแข็งภายในกลุ่ม ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดและของประเทศ อย่างไรก็ตามมีบางจังหวัดเห็นว่าควรมีการจัดแบ่งกลุ่มจังหวัดใหม่ เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีลักษณะและจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน ทิศทางการพัฒนาอาจไม่ตรงกัน และการมีจังหวัดภายในกลุ่มเป็นจำนวนมากอาจไม่คล่องตัวในการบริหารจัดการและการจัดสรรงบประมาณ
ทั้งนี้ การดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติได้มีการประกาศเขตพัฒนาการท่องเที่ยวแล้ว จำนวน 5 เขต ตามกฎกระทรวงกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยว พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 22 ก เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 ประกาศเขตพัฒนาการท่องเที่ยว 5 เขต ประกอบด้วย (1) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก (2) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก (3) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน (4) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา และ (5) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 ก็ได้มีการประกาศเขตพัฒนาการท่องเที่ยวเพิ่มเติม อีก 3 เขต ได้แก่ (1) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม (2) เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง (3) เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง ตามกฎกระทรวงกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยว พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 72 ง
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560
2. เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์
ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี และมีขนาดพื้นที่รวม 63.52 ตร.กม. ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 1 ส่วน 3 ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด โดยเขตอารยธรรมอีสานใต้นี้ มีความโดดเด่นในด้านอารยธรรม วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม โบราณสถาน และแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายจำนวนมาก ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) และทรัพยากรที่สามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของประเทศได้เป็นอย่างดี