ความเป็นมา ของสำนักงานพื้นที่พิเศษ 1
ความเป็นมาของสำนักงานพื้นที่พิเศษ 1
*****************
สำนักงานพื้นที่พิเศษ 1 (อพท.1) เป็นหน่วยจรยุทธ์ทำงานในพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาล โดยมีพื้นที่การดำเนินงานคือ คุ้งบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
พื้นที่ทำงานใกล้กรุง ณ คุ้งบางกะเจ้า
การเข้ามาดำเนินงานในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงต้องการให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวคุ้งบางกะเจ้าแห่งนี้ และทรงมีพระราชดำริว่า ควรสงวนพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่สีเขียวและคงความเป็นปอดของคนเมืองไว้ และในปี พ.ศ. 2549 นิตยสารไทม์เอเชีย (Time Asia) ฉบับ Best of Asia ได้ยกย่องให้บางกะเจ้าเป็นปอดกลางเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย และถูกขนานนามว่า "ปอดกรุงเทพฯ”
จุดเริ่มต้นของ อพท. ในการมาดำเนินงาน ณ พื้นที่คุ้งบางกะเจ้า เริ่มมาจากคณะอนุกรรมการ ที่ปรึกษาโครงการรักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์คุ้งบางกะเจ้า โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานอนุกรรมการ และมีนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กพท.) ร่วมเป็นอนุกรรมการด้วยนั้น มีภารกิจดำเนินโครงการตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีในการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า และคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวคาดหวังว่า อพท. จะเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนการบริหารโครงการดังกล่าวได้ ซึ่ง ผู้อำนวยการ อพท. ได้รายงานว่า อพท. เคยพิจารณาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ต่อมา มติ กพท. ครั้งที่ 8/2559 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 เห็นชอบให้ อพท. ดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการประกาศพื้นที่พิเศษบางกะเจ้า ซึ่งผู้อำนวยการ อพท. ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยว (สพข.) ลงพื้นที่สำรวจเพื่อประเมินศักยภาพของพื้นที่โดยการให้คะแนนตามเกณฑ์การประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน (สทช.) ลงพื้นที่ประสานงานเพื่อเตรียมความพร้อมกับชุมชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ประกอบกับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริเห็นด้วยกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สีเขียวคุ้งบางกะเจ้าสู่ความยั่งยืน โดยมูลนิธิชัยพัฒนาได้มีคำสั่งมูลนิธิชัยพัฒนาที่ 58/2561 เรื่องแต่งตั้ง คณะทำงานดำเนินการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่ความยั่งยืน โดยแบ่งเป็น 6 ด้าน ดังนี้ 1) คณะทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่สีเขียว 2) คณะทำงานด้านการจัดการน้ำและการกัดเซาะริมตลิ่ง 3) คณะทำงานด้านการจัดการขยะ 4) คณะทำงานด้านการส่งเสริมอาชีพ 5) คณะทำงานด้านการพัฒนาเยาวชน การศึกษา และวัฒนธรรม และ 6) คณะทำงานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีผู้อำนวยการ อพท. เป็นประธานคณะทำงาน มีภาคีในการทำงานร่วมกันถึง 46 องค์กร จำนวน 63 คน ครอบคลุมทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เช่น รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กรมการท่องเที่ยว นายอำเภอพระประแดง ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานฉะเชิงเทรา พัฒนาชุมชนอำเภอพระประแดง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 6 ตำบล เป็นต้น
การดำเนินงานในพื้นที่อย่างเข้มข้นนั้น เริ่มในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่ความยั่งยืนนั้น อพท.ได้เข้าไปสร้างและพัฒนากลไกใน 3 ระดับ ตั้งแต่กลไกระดับตำบล ซึ่งก็คือ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนทั้ง 6 ตำบล (ตำบลทรงคนอง ตำบลบางกระสอบ ตำบลบางยอ ตำบลบางน้ำผึ้ง ตำบลบางกอบัว และตำบลบางกะเจ้า) ถัดมาเป็นกลไกระดับคุ้ง ซึ่งก็คือ ชมรมเครือข่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนคุ้งบางกะเจ้า ซึ่งกรรมการผ่านการคัดเลือกจากตัวแทนในระดับตำบล ๆ ละ 4 คน เข้ามาบริหารจัดการและขับเคลื่อนการทำงานด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนร่วมกันในภาพรวมของคุ้งบางกะเจ้า ระดับถัดมา คือ คณะทำงานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งก่อเกิดมาจากการที่มูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินโครงการ OUR Khung BangKachao โดยพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าในหลากหลายมิติ ผลลัพธ์จากการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว ส่งผลให้ 3 ชุมชนได้รับรางวัล DASTA AWARD ประจำปี 2562 ได้แก่ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบางกอบัว ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลน้ำผึ้ง และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลทรงคนอง และ 1 ชุมชนได้มาตรฐาน CBT Thailand และมาตรฐานสุขอนามัยและความปลอดภัย Amazing Thailand Safety and Health Administration (SHA) คือ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบางกอบัว
ซึ่งปัจจุบัน ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เห็นชอบการประกาศ “พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืนคุ้งบางกะเจ้า” เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 แล้ว
- ไฟล์แนบ :66 01 23 รายงานศักยภาพฯ.pdf
-
Rate :
- ขนาดไฟล์ :13.344
- จำนวนดาวน์โหลด :37 ครั้ง