การแถลงทิศทางนโยบายและแผนงานที่สำคัญ

คำแถลงนโยบายและแผนการดำเนินงาน อพท. ประจำปี พ.ศ. 2565
โดย นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท.
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. มีภารกิจการดำเนินงานด้านการบริหารและการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและระดับสากล โดย อพท. ยึดมั่นในปรัชญาการทำงานแบบ Co-creation & Co-Own คือ “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับผลประโยชน์ และร่วมเป็นเจ้าของ” บนพื้นฐานในการทำงานที่จะธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมและความโปร่งใส ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ภายใต้กรอบวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุข”
ในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา แม้ว่าต้องเผชิญความท้าทายหลายด้านโดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อพท. ได้พัฒนาการท่องเที่ยวและสร้างต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ใน 6 พื้นที่พิเศษผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ประสบความสำเร็จในประเด็นสำคัญดังนี้
1) พัฒนาการท่องเที่ยวและสร้างต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) จนได้รับรางวัล Global Sustainable Destinations Top 100 ในปี 2564 จำนวน 2 แหล่ง ได้แก่ พื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย และพื้นที่ท่องเที่ยวเมืองเก่าน่าน ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน จ.น่าน สำหรับการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวตามแนวทางเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การ UNESCO ได้แก่จ.เพชรบุรี ที่ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (Gastronomy)
2) พัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism: CBT) โดยการ“สร้างต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน” จากการใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน หรือ CBT Thailand เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน และเป็นที่น่ายินดีที่หลักสูตรการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนของ อพท. ได้รับรางวัลจาก Pacific Asia Travel Association: PATA หรือรางวัล PATA Gold Awards 2021 ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูแหล่งท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีการบริหารจัดการอย่างมีมาตรฐาน และมีพัฒนาการจนเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการในระดับภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก สาขา Human Capital Development Initiative จากผลงานการพัฒนาหลักสูตรการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนเชิงบูรณาการ (Certificate in CBT Integrated) นอกจากนี้ ชุมชนบ่อสวก จ.น่าน ที่ อพท. เข้าไปพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้น ได้รับการประกาศเป็น 1 ใน 20 หมู่บ้านจากทั่วโลก ที่ได้รับการบรรจุใน Upgrade Programme ภายใต้รางวัล UNWTO Best Tourism Village 2021 ขององค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของ อพท. ในระดับนานาชาติ
3) การสนับสนุนการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ในหลักการของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ซึ่งนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการหาแนวทางหรือมาตรการกระตุ้นเพื่อสร้างและการกระจายรายได้ในพื้นที่หรือแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งแนวปฏิบัติที่มีความเป็นไปได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อหาแหล่งรายได้ชดเชยหรือทดแทนรายได้จากการท่องเที่ยวที่หดหายไปจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่ง อพท. ได้ดำเนินการเสนอแนวทางบริหารจัดการสร้างกลยุทธ์และวิธีการขับเคลื่อนการสร้างมูลค่าเพิ่มในพื้นที่พิเศษอย่างเป็นรูปธรรม (Thailand Honor) ต่อคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ และที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการตามที่ อพท. เสนอแล้ว
4) การประกาศพื้นที่พิเศษใหม่ อพท. อยู่ระหว่างการนำเสนอการศึกษาความเป็นไปได้และเตรียมประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษแห่งใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ต่อคณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (พพท.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ สำหรับพื้นที่พิเศษที่ได้รับการประกาศไปแล้ว อพท. ได้มีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนำเสนอต่อ ท.ท.ช. ได้เห็นชอบในหลักการตามที่ อพท. เสนอแล้วจำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ 1) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย 2) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมรดกโลกสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร 3) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง และ 4) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง
5) การบริหารจัดการภายในองค์กรที่มีผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 อพท. ได้คะแนนร้อยละ 96.03 หรือระดับ AA จัดเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และเป็นอันดับที่ 7 ในกลุ่มองค์การมหาชนจากทั้งหมด 55 หน่วยงาน ในขณะที่ผลการประเมินสถานะของหน่วยงานในการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้คะแนนเฉลี่ย 420.19 คะแนน จากคะแนนเต็ม 500 คะแนน
จากความสำเร็จในรอบปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และได้นำมาซึ่งความท้าทายในการขับเคลื่อนภารกิจในปี 2565 อพท. ยังคงดำเนินการบริหารงานที่ยึดมั่นในปรัชญาการทำงานแบบ Co-creation คือ “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์” และร่วมเป็นเจ้าของ หรือ Co-Own ต่อไป เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความหวงแหนร่วมกัน โดยมีจุดเน้นการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2565 ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร (งบประมาณประจำปีและเงินทุน อพท.) รวมทั้งสิ้น 410.4365 ล้านบาท ดังนี้
1. ภารกิจด้านการประกาศพื้นที่พิเศษ อพท. จะเร่งดำเนินการนำผลการศึกษาความเป็นไปได้และเตรียมประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษแห่งใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า นำเสนอต่อ ท.ท.ช. ให้ความเห็นชอบ สำหรับพื้นที่พิเศษที่ประกาศไปแล้ว อพท. กำลังอยู่ระหว่างการนำเสนอต่อ ท.ท.ช. พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฯ อีก 2 พื้นที่ที่ยังเหลืออยู่ในเดือนมกราคม 2565 ได้แก่ 1) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน และ 2) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทองและพื้นที่เชื่อมโยง ซึ่งเมื่อ ท.ท.ช. เห็นชอบการทบทวนแผนฯ จนครบทั้ง 6 พื้นที่แล้ว อพท. จะนำเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
2. ภารกิจด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ มุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ในพื้นที่พิเศษจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ตำบลเกาะหมาก จ.ตราด พื้นที่ตำบลนาเกลือ จ.ชลบุรี พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย พื้นที่ตำบลในเวียง จ.น่าน และพื้นที่เทศบาลตำบลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือการผลักดันให้พื้นที่ท่องเที่ยวเป็น Global Sustainable Destinations Top 100 หรือสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก รวมทั้งการผลักดันสู่การได้รับการรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวตามเกณฑ์มาตรฐาน Green Destinations ต่อไป
นอกจากนี้ อพท. ได้ให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่จะนำมาใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายภายใต้การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการตาม BCG Model อพท. จึงวางแผนเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ระยะเวลา 6 ปี (พ.ศ. 2565 -2570) ในแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบเกาะหมาก ซึ่งอยู่ในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง โดยมีเป้าหมายคือ ความสำเร็จจากการลดการทำลายขยะจากภาคการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบเกาะหมาก
3. ภารกิจด้านการขับเคลื่อนเมืองตามแนวทางเครือข่ายเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (The UNESCO Creative Cities Network : UCCN) ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินงานตาม Roadmap ประจำปี 2565 ให้ได้ร้อยละ 75 ใน 2 พื้นที่ ได้แก่
3.1 พื้นที่ จ.น่าน มีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ 1) นำฐานข้อมูลด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านไปยกระดับและต่อยอดให้เกิดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ 2) ยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเมืองน่าน 3) สร้างพื้นที่งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเมืองน่านเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) 4) สร้างเครือข่ายร่วมกับสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 5) สร้างความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO และ
6) ประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อนำเสนออัตลักษณ์เมืองน่านให้เป็นที่รับรู้ของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO
3.2 พื้นที่ จ.สุพรรณบุรี มีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ 1) สร้างเครือข่ายระดับประเทศและระดับสากลดำเนินงานด้านดนตรีร่วมกับภาคีเครือข่ายในระดับประเทศ 2) ส่งเสริมองค์ความรู้และยกระดับการพัฒนาดนตรีสร้างสรรค์สู่สากล และ 3) สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่และส่งเสริมคุณค่าทางด้านดนตรีสู่สากล
4. ภารกิจด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism: CBT) โดยการ“สร้างต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน” จากการใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน หรือ CBT Thailand โดยมีเป้าหมายในการผลักดันชุมชนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ได้อย่างน้อย 15 ชุมชน
ซึ่งกระบวนการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประกอบด้วย 1) การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว หรือ กิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน 2) การประชุมกำหนดทิศทางร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาด้านการตลาด 3) การทดสอบเส้นทางการท่องเที่ยว (Product testing) ร่วมกับผู้ประกอบการ
4) การนำเสนอขายโปรแกรมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน โดยผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว สมาคมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ที่เหมาะสม
5. สำหรับนโยบายและแผนงานที่จะดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องค์กร ให้มีความมั่นคงและยั่งยืน มีผลสัมฤทธิ์ที่สำเร็จเป็นรูปธรรม ตอบสนองนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ โดยส่วนหนึ่งจะเป็นการดำเนินงานที่ต่อยอดจากแผนงานเดิมที่วางไว้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะมุ่งเน้นดำเนินงานตามแนวทาง ดังนี้
5.1 พัฒนา อพท. ให้เป็นองค์กรแห่งความตื่นตัว คล่องแคล่ว ตอบโจทย์ความเป็นองค์การมหาชน โดยเริ่มจากการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของบุคลากร ที่มีความตื่นตัว มีคุณลักษณะเป็นนักประสานงาน นักส่งเสริม เป็นผู้นำ และเป็นนักยุทธศาสตร์ เพื่อการทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้นำศักยภาพของตัวเองมาร่วมกันพัฒนาพื้นที่และชุมชนที่ อพท. ได้รับมอบหมายจนเป็นผลสำเร็จ
5.2 ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรใหม่ (Restructuring) ให้ป็นองค์กรที่ “จิ๋วแต่แจ๋ว” ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ บุคลากร และภารกิจที่มีความท้าทายในปัจจุบัน ที่ต้องมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับ
5.3 มุ่งเน้นให้บุคลากรทำงานให้เต็มศักยภาพ มีทักษะที่หลากหลาย (Multi skill) สามารถทำงานภายใต้สภาวะแรงกดดันได้ดี และให้ความสำคัญกับบุคลากรในทุกระดับงาน เปิดโอกาสให้ทุกคนได้คิด ได้เสนอ และได้ทำในสิ่งที่มีความชอบและมีความถนัด มีการถอดบทเรียนของความสำเร็จสู่นวัตกรรมที่ดียิ่งขึ้น บุคลากรของ อพท. สามารถคิดนอกกรอบได้อย่างมีเหตุและผล เพื่อให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและภาคีเครือข่ายให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมกัน
5.4 สร้างวัฒนธรรมองค์กร ให้บุคลากรมีความภูมิใจที่ได้ทำงานในองค์กรแห่งนี้ มีคุณลักษณะความเป็นผู้นำที่สามารถปรับตัวรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นใจในความมั่นคงให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้มีพลังในการทำงานบรรลุสู่เป้าหมายตามที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิผลภายใต้แนวการปฏิบัติ “รับผิดชอบ รวดเร็ว สำเร็จภารกิจ ทันเวลา”
สุดท้ายนี้ กระผม พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ทุกคน มีความมุ่งมั่น พร้อมทุ่มเทพลังกาย พลังใจ และพลังสติปัญญา เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้ อพท. “เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุข” ตามวิสัยทัศน์ขององค์กรที่กำหนดไว้ต่อไป
- ไฟล์แนบ :คำแถลงนโยบาย 65.pdf
-
Rate :
- ขนาดไฟล์ :0.125
- จำนวนดาวน์โหลด :10 ครั้ง