องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

พลิกโฉม ฝั่งทะเลตะวันตก สู่ "ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน"

1625820840
ขนาดตัวอักษร

          ชวนท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก เรียนรู้วิถีงานปูนปั้นโดยอาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ ที่เมือง 3 วัง เพชรบุรี เดินลุยสวนสับปะรด ชิม "ซี่โครงหมูอบสับปะรด" ที่การันตีด้วยรางวัลเชฟชุมชน ที่ประจวบฯ
 


พระนครคีรี (เขาวัง) จ.เพชรบุรี
 

          พื้นที่ 4 จังหวัดในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง เป็นชายฝั่งทะเลที่น่าสนใจ มีความโดดเด่นทั้งทางด้านกายภาพ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นที่มาให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เข้าไปสำรวจและร่วมกันพัฒนาชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ภายใต้การบูรณาการกับส่วนราชการและภาคเอกชน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อนำชุมชน "ก้าวไปสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน"

          นายสุจินต์ มีประดิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 8 หรือ อพท.8 กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่ฝั่งทะเลตะวันตกทั้ง 4 จังหวัด ทำให้เห็นถึงศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว ธรรมชาติที่งดงาม วิถีชีวิตชุมชนที่ยังคงอาชีพประมงชายฝั่งและเกษตรกรรม รวมทั้งเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม มีเรื่องเล่าสืบทอดกันมายาวนาน

 


นายสุจินต์ มีประดิษฐ์


          จังหวัดเพชรบุรี เป็นเมืองหน้าด่านที่มีประวัติศาสตร์ มากด้วยศิลปวัฒนธรรม และอารยธรรมโบราณ มีโบราณสถาน โบราณวัตถุจำนวนมาก เป็นที่ตั้งวังของพระมหากษัตริย์ถึง 3 รัชกาล ได้แก่ พระนครคีรี (เขาวัง) รัชกาลที่ 4, พระรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน) รัชกาลที่ 5 และพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน รัชกาลที่ 6 ทำให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นศูนย์รวมช่างฝีมือ และถูกขนานนามว่า เมือง 3 วัง ความวิจิตรประณีตที่หาเทียบได้ยากของงานช่างสกุลเพชรที่หาชมได้ที่นี่ ที่ที่มีศิลปะโดดเด่น 2 แขนง ซึ่งพัฒนาร่วมกับชุมชน คือ "การเรียนรู้งานปูนปั้น" ลายประจำยาม ที่เป็นเอกลักษณ์และชิ้นงานพื้นฐานของงานช่างปูนปั้น โดยกลุ่มศิลปะปูนปั้น อาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้งานปูนปั้นที่ต้องการอนุรักษ์โดยถ่ายทอดให้กับผู้ที่สนใจทุกเพศ ทุกวัย ธีมของกิจกรรม คือ "รักษ์ ปั้น ศิลป์"

          สำหรับผู้ที่ชื่นชอบด้านศิลปะ ศิลปะสกุลช่างเมืองเพชรมีให้ชมทั้งงานปูนปั้น, งานลายรดน้ำ, งานลงรักปิดทองประดับกระจก, งานช่างทอง, งานแทงหยวก, งานหนังใหญ่, งานสลักไม้, งานปั้นหัวโขน, งานจิตรกรรมที่สวยงาม ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เห็นงานด้านศิลปะที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงาน ที่ทำให้หลายคนเมื่อได้ลงมือทำจะได้รู้ว่าศิลปะนั้นไม่ใช่เรื่องยาก
 


          ชุมชนเมืองเก่าริมน้ำเพชรบุรี เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่น่าค้นหาและเรียนรู้ เพราะมีความผูกพันและตั้งใจที่จะสืบทอดศิลปะการตอกกระดาษ และการตอกหนังใหญ่ โดยการออกแบบกิจกรรมที่มีความผสมผสานศิลปะ 2 แขนงเข้าด้วยกัน จึงเกิดเป็นกิจกรรมตอกกระดาษเมืองเพชร ลายหนังใหญ่ ชื่อธีม "ตอกลาย สร้างศิลป์"

          รวมถึงได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวสวนตาล คือ การเที่ยวสวนตาล หรือกินขนมตาล ภายใต้กิจกรรม "เรียนรู้วิถีตาล" การทำขนมตาล ภายใต้คอนเซ็ปต์ "ตาลหวาน อาหารใจ" โดยชุมชนถ้ำรงค์ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้ลงมือทำขนมตาลด้วยตัวเอง และจะเข้าใจมากขึ้นว่า วิถีชีวิตเกษตรกรปลูกตาลนั้น เป็นอาชีพที่ต้องอดทนและขยันมาก ซึ่งเป็นอาชีพที่ชาวตำบลถ้ำรงค์ ต้องการรักษาให้วิถีตาลยังคงอยู่ต่อไป อพท. จึงใช้กลไก Creative Tourism เป็นตัวช่วยในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

 


 

          ส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดย อพท.8 ได้ลงพื้นที่ร่วมพัฒนา สร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชน ในการนำกิจกรรมท่องเที่ยวของชุมชนที่โดดเด่น มาปรับเสริมเพิ่มมูลค่าให้ออกมาเป็น Creative Tourism ได้แก่ กิจกรรมเรียนรู้วิถีสับปะรด ที่นักท่องเที่ยวจะได้เดินลุยสวนสับปะรด ได้เรียนรู้วิธีการทำเกษตรสับปะรดของชาวประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงวิธีการเก็บสับปะรด เลือกสับปะรด ที่แต่ละกอจะมีสับปะรดเพียงผลเดียว หากมีหลายผลจะต้องเด็ดออก เพื่อให้ผลที่เหลืออยู่มีความสมบูรณ์ ไฮไลต์อยู่ที่ได้ทำอาหารจากสับปะรด เมนูเด็ดที่การันตีด้วยรางวัล เชฟชุมชน คือ "ซี่โครงหมูอบสับปะรด" ที่ใช้วัตถุดิบจากชุมชน และกิจกรรม "สบตา สบใจ" โดยชุมชนอ่าวน้อย ซึ่ง ตา หมายถึง ตาสับปะรด ส่วน ใจ หมายถึง ใจนักท่องเที่ยว